เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การมีคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีและมีชีวิตยืนยาว เป็นความปรารถนาสูงสุดของมนุษย์ทุกคน โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน มีนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากมายในทุกวงการโดยเฉพาะวงการแพทย์ ได้พยายามคิดค้นกลวิธีการรักษาโรคและการทำให้มนุษย์มีชีวิตที่ยืนยาวมากขึ้น
เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับบริษัท Startup รายหนึ่งจากประเทศสิงคโปร์ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่สามารถเข้าไปวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ รวมถึงการเข้าไปอ่านงานวิจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งในอดีตและปัจจุบัน และนำข้อมูลต่างๆ มาประมวลผล
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลเลือด ผลการวิเคราะห์ทางด้าน Imaging (เช่น X-RAY, CT, MRI เป็นต้น) ผลตรวจด้านพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอเฉพาะบุคคล และนำข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ มาเข้าระบบ big data ประมวลผลร่วมกับข้อมูลงานวิจัยที่เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลาบนโลกใบนี้ เพื่อออกแบบการใช้ชีวิตของทุกคนที่เข้ามาใช้บริการระบบดังกล่าว
จริงๆ แล้ว ได้มีการนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ทางการแพทย์เข้ามาใช้กว่าหลายสิบปีแล้ว เช่น การนำเอา IBM Watson เข้ามาร่วมวางแผนรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น แต่เนื่องจากเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ได้รับการพัฒนาไปมาก ดังนั้น การนำเอาเทคโนโลยีประเภทนี้ มาช่วยวิเคราะห์และวางแผนเฉพาะของแต่ละบุคคลเพื่อการมีสุขภาพที่ดีและมีอายุยืนยาวขึ้น จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก เกี่ยวกับเศรษฐีชาวอเมริกันที่ยอมทุ่มเงินหลายพันล้านบาท ว่าจ้างแพทย์นับสิบคน เพื่อมาช่วยดูแลสุขภาพของเขาในทุกมิติ ทั้งการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย หรือการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้เทคโนโลยีสเต็มเซลล์
หรือการนำเอา blood plasma ของทายาทตัวเองมาใช้เพื่อซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ โดยหวังว่าจะสามารถช่วยย้อนวัยได้ แม้ล่าสุดโครงการดังกล่าวอาจจะไม่ได้ไปต่อ แต่ความคาดหวังต่อทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีทางการแพทย์ในปัจจุบันที่ว่ามนุษย์จะมีอายุเกิน 100 ปี จึงอยู่ไม่ไกลจากความจริงนัก
จากแนวโน้มของโลกดังที่กล่าวมาข้างต้น ผมอยากจะชวนทุกท่านคิดว่า สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการพัฒนาต่อไปอย่างไม่มีขีดจำกัด แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นแล้วและได้รับการพิสูจน์มาหลายร้อยปี ซึ่งข้อมูลได้ถูกถ่ายทอดผ่านสารคดีต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของคนโอกินาวาที่อายุยืนและมีอายุเฉลี่ยมากกว่า 100 ปี หรือชาวบ้านในหมู่บ้านเล็กๆ อื่นๆ ในประเทศแถบยุโรปที่มีอายุยืนมากล้วนแล้วแต่เกิดจากการใช้วิถีที่เรียบง่ายและทุกคนสามารถปฏิบัติได้
ไม่ว่าจะเป็นการที่เรามีอารมณ์ดี ทานอาหารที่ดีรวมถึงผักผลไม้ที่มีประโยชน์อย่างสม่ำเสมอ การมีสังคมรอบๆ ตัวที่ดี การออกกำลังกายเป็นประจำหรือการใช้ชีวิตประจำวันที่เรียบง่าย การเล่นดนตรีหรือการทำกิจกรรมสันทนาการ และการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง ฯลฯ
ทั้งหมดนี้ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้โดยเริ่มต้นจากตัวเราเอง และปล่อยให้การพึ่งพาเทคโนโลยีอันชาญฉลาดเป็นเพียงตัวช่วยให้เราไปถึงจุดหมายที่คาดหวังไว้เท่านั้นก็พอ
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,954 วันที่ 4 - 6 มกราคม พ.ศ. 2567